กสอ. ชี้ดีมานด์อุตฯ บริการกลุ่มท่องเที่ยวเพศทางเลือกมีแนวโน้มดีรับท่องเที่ยว ปี 64
โชว์ผู้ประกอบการ THAI LGBT CONNECT เซอร์วิสดีไซน์สุดล้ำที่ออกแบบมาเฉพาะเข้าใจคุณที่สุด
จ.เชียงใหม่ 14 พฤศจิกายน 2563 – กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เผยตลาดอุตสาหกรรมบริการการท่องเที่ยวในกลุ่มเพศทางเลือกทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึง 6.64 ล้านล้านบาทต่อปี โอกาสทองสำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย ซึ่งถือเป็น 1 ใน 3 จุดหมายที่นักท่องเที่ยวกลุ่ม LGBT โดย กสอ. ได้ส่งเสริมผู้ประกอบการพัฒนา THAI LGBT CONNECT ทางเลือกใหม่ที่เข้าใจความต้องการของกลุ่มเพศทางเลือก ผลผลิตจากโครงการ Challenge Project by DIProm ใช้โอกาสช่วงวิกฤตโควิด-19 พัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อการท่องเที่ยวสำหรับเพศทางเลือกรายแรกของไทย รวมฐานข้อมูลโรงแรม ร้านอาหาร พร้อมดึงสินค้าชุมชนขายออนไลน์ เพื่อเข้าถึงโอกาสจากการท่องเที่ยวในอุตสาหกรรมนี้ เบื้องต้นเล็งสร้างรายได้ชุมชนกว่า 20 ล้านบาท
นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมบริการกลุ่มท่องเที่ยวในปัจจุบันเป็นที่น่าจับตา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การท่องเที่ยวของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ เพศทางเลือก ซึ่งผลวิจัยจากเอาท์ นาว คอนซัลติ้ง ร่วมกับ เวิลด์ ทราเวล มาร์เก็ต (WTM) พบว่านักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มีการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวรวมกันสูงกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 6.64 ล้านล้านบาท โดยหากพิจารณาถึงประเทศจุดหมายที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจ พบว่าประเทศไทยถือเป็น 1 ใน 3 ประเทศเป้าหมายที่นักท่องเที่ยวกลุ่มเพศทางเลือก หรือแม้แต่นักท่องเที่ยวทั่วไปให้ความสนใจ ทั้งนี้เป็นผลจากค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวที่ไม่สูงนัก ประกอบกับมาตรการด้านสาธารณะสุขที่เข้มแข็ง
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กสอ. ได้ส่งเสริมผู้ประกอบการผ่าน “กิจกรรมเปิดทาง-สู่ธุรกิจหลัง COVID 19”
ค้นหาสุดยอดผู้ประกอบการ Challenge Project by DIProm เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการให้สามารถปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งมีทีมนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำเชิงลึก เพื่อให้โมเดลธุรกิจที่ได้รับการพัฒนาสามารถนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เปลี่ยนวิกฤตที่ภาคอุตสาหกรรมเผชิญ เป็นโอกาสในการพัฒนาขีดความสามารถอย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นการดำเนินงานภายใต้ มาตรการฟื้นฟูผู้ประกอบการ
ให้ดีพร้อมทันทีใน 90 วัน โดยหนึ่งในผู้ประกอบการที่เข้าร่วมคือเป็นผู้ประกอบการที่นำเที่ยวในกลุ่มเพศทางเลือก
ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ที่อาศัยโอกาสในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจจากเดิม
ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการปิดประเทศ พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัล THAI LGBT CONNECT ทางเลือกใหม่
สำหรับนักท่องเที่ยว แม้ปัจจุบันการท่องเที่ยวยังไม่สามารถดำเนินการได้เต็มรูปแบบ แต่พบว่ายังมีความต้องการท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก โดยงานวิจัยจาก International Gay and Lesbian Travel Association ทำการวิจัยเกี่ยวกับการตัดสินใจท่องเที่ยวหลังวิกฤตโควิด-19 พบว่านักท่องเที่ยวกลุ่มเพศทางเลือก มีความพร้อมและต้องการท่องเที่ยวมากถึงร้อยละ 66 ซึ่งแพลตฟอร์มนี้จะสามารถสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้กับชุมชนซึ่งสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากได้เป็นอย่างดี นายณัฐพล กล่าว
นายศกุณภัทร มโนกนกพานิช กรรมการผู้จัดการ หจก. เอเชี่ยน พลัส ทราเวล แอนด์ เซอร์วิส ระบุว่า บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจนำเที่ยวมากกว่า 10 ปี มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติให้ความสนใจใช้บริการนำเที่ยวมาโดยตลอด แต่ธุรกิจไม่สามารถดำเนินต่อไปได้เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงเข้าร่วมโครงการฯ และได้รับการส่งเสริมจาก กสอ. ในการปรับโมเดลธุรกิจให้เท่าทันกับสถานการณ์ปัจจุบัน พร้อมคำแนะในการการจัดทำแพลตฟอร์ม THAI LGBT CONNECT เครื่องมือเพื่อการนำเที่ยว เชื่อมโยงกลุ่มผู้ประกอบการในประเทศ ฐานข้อมูลสินค้าและบริการในทุกรูปแบบที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มเพศทางเลือก (LGBT) ทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ รายแรกของไทย ซึ่งนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ต้องการสัมผัสเอกลักษณ์ความเป็นไทย หรือ Thainess โดยไม่จำเป็นต้องปักธงสีรุ้งในสถานที่ท่องเที่ยว แต่ให้คงเอกลักษณ์ของแหล่งท่องเที่ยว และต้องการการปฏิบัติที่เท่าเทียม ไม่ก่อให้เกิดความรู้สึกแปลกแยก
โดย แพลตฟอร์ม THAI LGBT CONNECT ประกอบด้วย บริการนำเที่ยว ข้อมูลการด้านการท่องเที่ยว ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเลือกสถานที่ ช่วงเวลาสำหรับการท่องเที่ยวได้ตามความต้องการ และ บริการด้านการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ ที่จะรวบรวมสินค้าชุมชน เพื่อเป็นตลาดออนไลน์ หรือ E-Market Platform สำหรับนักท่องเที่ยว และ กลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติ เพื่อเลือกซื้อสินค้า ในกรณีที่ยังไม่สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ ทั้งนี้คาดว่าแพลตฟอร์มดังกล่าว จะสร้างรายได้ให้กับสินค้าชุมชนและกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากได้ปีละกว่า 20 ล้านบาท
สำหรับ แพลตฟอร์ม THAI LGBT CONNECT ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนา คาดว่าจะใช้เวลาอีก 6 เดือนในการพัฒนา web-platform สำหรับรวบรวมฐานข้อมูลสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวสำหรับกลุ่มหลากหลายทางเพศ ให้สามารถการดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และพร้อมให้บริการในช่วงที่มีการประกาศเปิดประเทศสำหรับการท่องเที่ยวอย่างเป็นทางการ นายศกุณภัทร กล่าวทิ้งท้าย
อย่างไรก็ดี กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) พร้อมสนับสนุนอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวในทุกรูปแบบ เพื่อให้เกิดการสร้างรายได้ในชุมชน และการมีงานทำของคนในพื้นที่ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม และ เศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน